
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
ตามที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดกิจกรรมปั้นนักรบไซเบอร์รุ่นใหม่ ในโครงการ Cyber Warrior Hackathon 2025 ระหว่างวันที่ 6 มิ.ย. – 21 ก.ค.68 ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 250,000 บาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศผลทีมผู้ชนะการแข่งขันในรอบ Final Pitch & Award Ceremony เป็นที่เรียบร้อย โดยทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม fight for นาย ช. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชื่อผลงาน Project Title: FakeSense เงินรางวัล 100,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Brute Force จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ชื่อผลงาน Sidekick ผู้ช่วย AI สำหรับตำรวจไซเบอร์เพื่อวิเคราะห์หลักฐาน, เชื่อมโยงคดี, และจัดทำเอกสารราชการอัตโนมัติ เงินรางวัล 50,000 บาท และ ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม SoftShells จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชื่อผลงาน TATHIP: ระบบช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัล เพื่อการสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแบบอัตโนมัติ เงินรางวัล 30,000 บาท

ในโอกาสนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. ในฐานะประธานในพิธี มอบเงินรางวัล และมอบโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณแก่ทีมผู้ชนะ พร้อมด้วย, พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ร่วมกับ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมโครงการนี้ มจธ. ในฐานะสถาบัน การศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายกำลังคนที่มีความสามารถสูงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ “Human Resource Community” รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ให้กับสังคมและนักศึกษา
โครงการนี้มีความโดดเด่นเนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยตำรวจทำงานโดยตรง ไม่ได้จำกัดเครื่องมือหรือยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง และไม่เน้นการใช้งานของประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่แค่การแข่งขัน Hackathon เพราะเป้าหมายสูงสุดหลังจากนี้คือผู้เข้าร่วมทั้งหมด 540 คน จะถูกรวมอยู่ใน community หรือระบบเครือข่ายโปรแกรมเมอร์ ภายใต้ “Hub of Knowledge” ซึ่งเป็นศูนย์กลางความรู้ที่ บช.สอท. และ มจธ. ร่วมกันก่อตั้งขึ้น โดยจะเรียกกลุ่มนี้ว่า “Cyber Eyes” ทำหน้าที่เป็น “อาสาเตือนภัย ในโลกไซเบอร์” และภายหลังจากนี้เรายังมีการต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆ โดยมี มจธ. เป็นที่ปรึกษา

“ซึ่งนอกเหนือจากการแข่งขันแล้ว ทีมที่ชนะยังได้รับโอกาสเข้าร่วมฝึกประสบการณ์ทำงานปราบโจรออนไลน์กับตำรวจไซเบอร์และได้รับประกาศนียบัตร Non-Degree ของหลักสูตร Cyber Warrior โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อธิการบดี มจธ. กล่าว

ผศ. ดร.สันติธรรม พรหมอ่อน หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ Cyber Warrior Hackathon 2025 กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรและกิจกรรม และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอโครงการ (proposal) รวมถึงให้ความรู้พื้นฐานตั้งแต่ Computer System Network Security ไปจนถึง Cyber Security และ Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล Blockchain และ AI พร้อมให้คำปรึกษาด้านเทคนิค

สำหรับกระบวนการพิจารณา คณะกรรมการคัดเลือกข้อเสนอโครงการจากทีมผู้เข้าแข่งขันกว่า 85 ทีม (จากทีมที่เข้าเวิร์กชอป จำนวน 104 ทีม แต่ละทีมมีสมาชิก 5 คน รวมทั้งหมด 540 คน) และถูกคัดเลือกเหลือ 20 ทีม เพื่อเข้าสู่การแข่งขัน Hackathon (วันที่ 19 – 20 ก.ค.) และคัดเลือกเหลือเพียง 10 ทีมสุดท้ายผ่านเข้าสู่รอบ pitching เพื่อนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในวันนี้ ( 21 ก.ค.) โดยจะพิจารณาว่าข้อเสนอเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดำเนินงานและมีแผนงานที่ชัดเจนครอบคลุม ทั้ง Hard Skills (ทักษะเชิงเทคนิค) และ Soft Skills (ทักษะด้านอื่นๆ) และโปรเจกต์ที่นำเสนอจะอยู่ภายใต้หัวข้อโจทย์ 8 หัวข้อที่ได้รับมาจากทางตำรวจ ไซเบอร์ ประกอบด้วย 1.TPO: Thai Police Online 2.”ถอดโค้ดโจร” กับแผนประทุษกรรม 3.ไขรหัสพยานดิจิทัล: เปิดปมจากบิตสู่ความจริง 4.”Breaking the Signal: ถอดรหัสทุกช่องทางสื่อสาร” 5.Money Trail: จากเงินสดถึงบล็อกเชน 6.ไซเบอร์คือสมรภูมิใหม่: เมื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือ โจทย์ท้าทายในการดูแลระบบและข้อมูลของเรา 7.Digital Detective: สืบความจริงในโลกไซเบอร์ และ 8.สอบสวนดิจิทัล: จากเบาะแสถึงชั้นศาล เมื่อไฟล์คือพยานเชื่อม การพิสูจน์ดิจิทัลกับการใช้ในศาล โดยในกระบวนการพิจารณาทั้งหมดจะดำเนินการโดยปิดชื่อสถาบันเพื่อความเป็นกลาง สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกหลักๆ ได้แก่ ความสามารถในการทำงาน, การทำงานเป็นทีม, ผลงานที่ทำออกมามีความเป็นรูปเป็นร่างมากน้อยแค่ไหน หรือมีโอกาสสำเร็จสูงและสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้เร็วแค่ไหน นอกจากนี้ยังพิจารณาจากการทำงานที่เป็นระบบระเบียบและการแก้ปัญหา

ผศ. ดร.สันติธรรม กล่าวว่า โครงการฯ นี้ ภาควิชาฯ มีเป้าหมายหลักสามประการในการแก้ปัญหาสังคม ไซเบอร์ คือ หนึ่งพัฒนาไอเดียและแนวคิดที่นำไปใช้งานได้จริงโดยนักศึกษา เนื่องจากโครงการนี้คาดหวังให้นักศึกษานำเสนอไอเดียและทำโปรแกรมขั้นต้นที่สามารถแสดงให้เห็นว่าแนวคิด ซึ่งตำรวจไซเบอร์เบอร์ต้องการเห็นไอเดียที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง, สองมอบความรู้และประสบการณ์ตรงจากปัญหาจริงให้กับนักศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสกับปัญหาที่แท้จริงของประเทศชาติ นักศึกษาจะได้พูดคุยกับตำรวจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้เข้าใจว่าความรู้ด้านไซเบอร์สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร และสามสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ให้กับสังคมและนักศึกษาเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น ปัญหาบัญชีม้าและการหลอกโอนเงิน ได้กลายเป็นสิ่งรอบตัวและเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงช่องว่างในการรับรู้ การจัดโครงการนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักว่าปัญหายังคงอยู่ และหากมีความสามารถก็ควรเข้ามาช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้าง Awareness นี้ ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และจะเริ่มจากการให้ความรู้แก่สังคม รวมถึงให้นักศึกษานำความรู้ไปบอกต่อผู้ปกครองได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ รวมถึงปัญหาบัญชีม้าและการหลอกลวงทางการเงิน นั้น ไม่สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการที่คนใกล้ตัวมาบอกเองจะช่วยให้เกิดการระวังตัวได้ดีกว่าการรับฟังข่าวทั่วไปเพียงอย่างเดียว และการแข่งขัน Hackathon เป็นเพียงกลไกหนึ่งในการรวบรวมคน การแข่งขันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจใหญ่ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ การ “สร้างกำลังคนและเครือข่าย Cyber Security ของประเทศ” ในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยผสมผสานความรู้ทางวิชาการเข้ากับการแก้ไขปัญหาจริงในสังคม เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาศักยภาพและมองเห็นโอกาสในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในอนาคต